Share on
4 Easy Ways to Cure Dandruff!
มาทำความรู้จักกับรังแคกันเถอะ
สาเหตุของเกิดรังแค
- ความถี่ของการสระผม
หลายคนมองว่า รังแคมักจะเกิดขึ้นเพราะเราไม่ค่อยสระผม จริง ๆ แล้ว การสระผมมากเกินไปก็เป็นสาเหตุของการเกิดรังแคเหมือนกัน! หากเราปล่อยปละละเลยเรื่องการดูแลความสะอาดหนังศีรษะของเรา จะทำให้เซลล์ผิวหนังที่ถูกผลัดออกมาและความมันที่ต่อมไขมันบนหนังศีรษะผลิตออกมา ตกค้างอยู่บนหนังศีรษะ และเมื่อสิ่งที่ตกค้างไม่ได้ถูกทำความสะอาด ก็จะก่อให้เกิดการรวมตัวกันเป็นแผ่นสะเก็ดหรือรังแคนั่นเอง ส่วนการสระผมบ่อยเกินไป ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดรังแคได้เช่นกัน เนื่องจากการสระผมบ่อย ๆ จะทำให้หนังศีรษะเสียความชุ่มชื้น เกิดความแห้ง เพราะเส้นผมถูกล้างความมันที่เคลือบเส้นผมออกไปจนเกินความจำเป็น จึงเป็นสาเหตุของการเกิดรังแค ฉะนั้นเราก็ควรสระผมให้เป็นกิจลักษณะ ไม่ควรสระถี่เกินไปและไม่ควรเว้นระยะห่างนานเกินไป เว้นสัก 1 – 2 วันค่อยสระ เพื่อรักษาความสะอาดของหนังศีรษะ และลดการเกิดรังแค - เชื้อรา
มีหลากหลายแหล่งข้อมูลกล่าวว่า ต้นเหตุของการเกิดรังแคคือเชื้อราที่อยู่บนหนังศีรษะ ซึ่งเป็นเชื้อราประเภทยีสท์ อยู่ในกลุ่ม Malassezia โดยปกติ เชื้อราตัวนี้จะอยู่บนหนังศีรษะของคนเราอยู่แล้ว เนื่องจากเป็นตัวที่คอยจัดการกับความมันที่ถูกผลิตออกมาจากต่อมไขมันบนหนังศีรษะ หากมีเชื้อราตัวนี้อยู่ในปริมาณที่สมดุล ก็จะไม่เกิดปัญหาอะไร แต่ถ้ามีเชื้อราตัวนี้ในปริมาณที่มากเกินไป จะเป็นการกระตุ้นให้เกิดการผลัดเซลล์ผิวเร็วกว่าปกติ จนเกิดเป็นขุยสีขาวเกาะอยู่บนหนังศีรษะและเส้นผมในปริมาณมากและกลายเป็นรังแคในที่สุด โดยสาเหตุที่ทำให้ปริมาณของเชื้อรา Malassezia เพิ่มขึ้น ก็คือฮอร์โมนและความเครียด นั่นเอง - ผิวหนังอักเสบจากการแพ้สารเคมี
ไม่ว่าจะเป็นแชมพู ครีมนวดผม หรือเหล่าผลิตภัณฑ์เปลี่ยนสีผม ทุกกระบวนการที่ต้องใช้สารเคมีสัมผัสกับเส้นผมและหนังศีรษะล้วนแล้วแต่เสี่ยงต่อการเกิดอาการระคายเคืองบริเวณหนังศีรษะเป็นอย่างมาก หากเกิดอาการแพ้สารเคมีจะส่งผลให้หนังศีรษะแห้ง อักเสบ เป็นผื่นแดง มีอาการคัน และอาจจะรุนแรงถึงขึ้นทำให้ผมร่วงหนัก ซึ่งทุกอาการที่กล่าวมาสามารถเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดรังแคได้
ประเภทของรังแค
- รังแคที่เกิดขึ้นเพราะหนังศีรษะแห้ง
เป็นรังแคประเภทที่สามารถพบได้ทั่วไปและมักจะเกิดขึ้นในช่วงหน้าหนาว เนื่องจากสภาพอากาศเย็นจะทำให้หนังศีรษะแห้งเฉกเช่นเดียวกันกับผิวหนังบนร่างกาย อีกทั้งในช่วงหน้าหนาว คนเราก็นิยมอาบน้ำและสระผมด้วยการใช้น้ำอุ่น ซึ่งเป็นอีกหนึ่งตัวการที่ทำให้หนังศีรษะแห้งได้เช่นกัน เมื่อหนังศีรษะแห้ง ก็จะเร่งให้มีการผลัดเซลล์ผิวให้เกิดขึ้นเร็วกว่าปกติ ส่งผลให้เกิดการระคายเคืองและมีอาการคันร่วมด้วย ลักษณะของรังแคจะเป็นแผ่นสะเก็ดเล็ก ๆ มีสีขาว
- รังแคที่เกิดขึ้นเพราะหนังศีรษะมัน
โดยปกติแล้ว ต่อมไขมันใต้ผิวหนังจะคอยผลิต ซีบัม (Sebum) หรือความมัน ออกมาป้องกันการสูญเสียความชุ่มชื้นของผิวหนัง แต่ถ้ามีการผลิตความมันออกมามากเกินไป ความมันที่เกินออกมาเหล่านั้นจะถูกสะสมรวมกันและก่อตัวเป็นรังแคบนหนังศีรษะ ลักษณะของรังแคประเภทนี้จะมีขนาดใหญ่กว่ารังแคประเภทที่เกิดจากหนังศีรษะแห้ง สีจะออกค่อนไปทางเหลืองมากกว่าขาว และเนื้อสัมผัสจะมีความมัน สาเหตุที่ทำให้ต่อมไขมันผลิตซีบัมออกมามาก เป็นเพราะการดูแลทำความสะอาดหนังศีรษะยังไม่เหมาะสมเพียงพอ นอกจากนั้นแล้ว รังแคประเภทนี้ หากปล่อยให้มีอาการรุนแรงมากขึ้น จะทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคเซ็บเดิร์ม (Seborrheic Dermatitis) ได้อีกด้วย
- รังแคที่เกิดขึ้นเพราะเชื้อรา
เชื้อราถูกพบได้ทั่วไปบนผิวหนังของคนเราก็จริง แต่สำหรับบางคนแล้ว เชื้อราบางชนิดก็สามารถสร้างปัญหาสุขภาพให้กับร่างกายได้เช่นกัน ซึ่งเรากำลังจะพูดถึงเชื้อราที่ถูกเรียกว่า Malasseazia เป็นเชื้อราในบริเวณรูขุมขนบนหนังศีรษะ พบเจอได้ปกติบนร่างกายของคนเราเพราะเชื้อราตัวนี้จะคอยจัดการกับซีบัมที่ถูกผลิตออกมาจากต่อมไขมัน ซึ่งการทำหน้าที่ของเชื้อราตัวนี้จะส่งผลให้ซีบัมเกิดการสลายตัวและปล่อยกรดโอเลอิกออกมา ในส่วนของกรดโอเลอิก อาจทำให้เกิดการระคายเคืองบนหนังศีรษะ โดยจะมีอาการคันและเป็นผื่นแดง อาการดังกล่าวจะกระตุ้นให้มีการผลัดเซลล์ผิวเร็วขึ้น จึงกลายเป็นการเกิดรังแค
แต่อย่างไรก็ตาม การระคายเคืองเพราะกรดโอเลอิก ไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกคน หากอิงจากแหล่งข้อมูลแล้วก็จะพบว่ามีเพียง 50% ของประชากรบนโลกเท่านั้นที่แพ้เชื้อรา Malassezia นอกจากนั้นแล้วก็ยังมีอีกหนึ่งทฤษฎีที่เคยกล่าวไว้ว่า อาการรังแคจะแย่ลงกว่าเดิมหากคนเรามีความเครียดหรือปล่อยให้ตัวเองป่วย เนื่องด้วยเชื้อราตัวนี้มีความเกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย ฉะนั้นเพื่อป้องกันการเกิดรังแคประเภทนี้ก็ควรหมั่นดูแลสุขภาพเข้าไว้นะคะ
แก้ปัญหารังแค ด้วย 4 วิธีง่ายๆ
เมื่อประสบปัญหารังแคโดยที่หลีกเลี่ยงไม่ได้แล้ว ก็จำเป็นต้องหาทางแก้ปัญหา สำหรับวิธีการรักษารังแค มีดังนี้
- พยายามหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีกับหนังศีรษะ
หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีต่าง ๆ กับหนังศีรษะให้มากที่สุด เช่น การดัดผม การจัดแต่งทรงผม การใช้น้ำยาย้อมผมหรือน้ำมันเพื่อจัดทรงผม รวมไปถึงการใช้แชมพูสูตรที่ไม่ทะนุถนอมหนังศีรษะมากเกินไป - ระมัดระวังเรื่องการเกาหนังศีรษะขณะสระผม
เวลาสระผม ไม่ควรเกาศีรษะแรงเกินไป เพราะการเกาหนังศีรษะอย่างแรงจะทำให้หนังศีรษะถลอกและเป็นการกระตุ้นการผลัดเซลล์ผิวบนหนังศีรษะให้เกิดขึ้นเร็วกว่าปกติ ส่งผลให้มีรังแคเพิ่มขึ้น - การเลือกใช้แชมพู
เลือกใช้แชมพูที่มีคุณสมบัติในการกำจัดรังแค ควรอ่านฉลากบนผลิตภัณฑ์อย่างละเอียดก่อนจะเลือกซื้อ เพื่อดูว่าผลิตภัณฑ์สำหรับทำความสะอาดหนังศีรษะมีส่วนผสมที่สามารถกำจัดรังแคได้หรือไม่ และควรหลีกเลี่ยงการเลือกใช้แชมพูที่มีน้ำหอมหรือมีสีผสมอยู่มากเพราะสารเหล่านี้จะทำให้เกิดการระคายเคืองบนหนังศีรษะ โดยส่วนใหญ่แล้ว แชมพูที่สามารถรักษาอาการรังแคมักจะมีส่วนผสมจำพวก Zinc Pyrithione, Selinium Sulfide, Salicylic Acid, Coal Tar, Ketoconazole และ Climbazole เป็นต้น ซึ่งส่วนผสมที่กล่าวถึงข้างต้น มีสรรพคุณในการช่วยป้องกันและกำจัดเชื้อราบนหนังศีรษะได้อย่างดี - ตรวจสุขภาพหนังศีรษะบางเป็นครั้งคราว
หากมีเวลาควรไปพบแพทย์ที่รักษาเกี่ยวกับสุขภาพหนังศีรษะบ้างเพื่อตรวจดูว่าหนังศีรษะมีโรคใดแอบแฝงอยู่หรือไม่ ก็จริงที่ว่าหากเป็นโรคเชื้อราบนหนังศีรษะ แล้วใช้แชมพูที่มีตัวยาฆ่าเชื้อราผสมอยู่ ก็จะทำให้รังแคหายขาดได้ แต่ในขณะที่โรคอื่น ๆ เช่น โรคสะเก็ดเงิน โรคหนังศีรษะอักเสบอื่น ๆ มักมีขอบเขตชัดเจน อีกทั้งสะเก็ดที่เกิดขึ้น มักติดอยู่กับหนังศีรษะหรือบางครั้งก็ขึ้นที่บริเวณอื่น ๆ ด้วย เช่น ขนคิ้ว ใบหน้า ใบหู หรือที่ลำตัว เป็นต้น ซึ่งโรคเหล่านี้ต้องการการรักษาด้วยยาเฉพาะโรคจึงจะหายขาดได้ ทางที่ดีหากมีอาการดังกล่าวควรจะไปพบแพทย์จะเป็นการดีที่สุด
การรักษารังแค ไม่ยากอย่างที่คิดเลยใช่ไหมล่ะคะ เพียงทำตาม 4 วิธีง่ายๆ โดยสรุปแล้ว การปรับวิธีการสระผมและใช้ผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับหนังศีรษะ เท่านี้รังแคก็จะไม่มากวนใจแล้วค่ะ หากอาการยังคงมีอยู่นั้น อาจเกิดจากโรคเชื้อราบนหนังศีรษะซึ่งควรปรึกษาแพทย์เพื่อได้รับการรักษาที่เหมาะสม การมีรังแคนั้นพบได้ในผู้คนทุกเพศทุกวัย และสามารถรักษาได้เช่นกัน เพราะฉะนั้นไม่ต้องกังวลและหมั่นดูแลสุขภาพหนังศีรษะเข้าไว้นะคะ ^^
ชุดแชมพูแนะนำจากศูนย์การแพทย์ธนบุรี ช่วยในการรักษารังแค อาการคันหนังศีรษะ และปัญหาผมร่วง ผมบาง
ชุดยาสระผม 3 ชนิด
ปรึกษาแพทย์ฟรี ปัญหาผมร่วง ผมบาง และโรคหนังศีรษะ!! สามารถนัดปรึกษาแพทย์และสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ Thonburi Medical Center
LINE: @tmc.center
Tel: 02-466-9955 | 02-465-9822
Facebook: ศูนย์การแพทย์ธนบุรี Thonburi Medical Center
Instagram: Thonburi Medical Center
Category: article
Tags:
รักษารังแค
รังแค
หนังศีรษะลอก