2024-05-22 18:34:49
Share on

ไขข้อสงสัยผมบางในผู้ชาย สาเหตุเกิดจากอะไร? มีกี่ระดับ ?


ผมเป็นสิ่งแรก ๆ เลยที่เมื่อมองมาคนจะสังเกตเห็น ถือเป็นองค์ประกอบหนึ่งเลยที่ส่งผลถึงความมั่นใจและสร้างความกังวลใจในชีวิตประจำวันของเราทุกคน อาการ "ผมบาง" นั้นเป็นอาการที่เกิดได้กับทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะในผู้ชายมักจะมีอัตราการเกิดผมบางที่มากกว่าผู้หญิง

อาการผมบางนั้นเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุไม่ว่าจะเป็นจากกรรมพันธุ์ อายุที่มากขึ้น หรืออาจมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตของเรา วันนี้เรารวบรวม 8 สาเหตุหลักที่ทำให้ผู้ชายผมบาง เกิดจากอะไรได้บ้าง ตามมาดูกันเลย

8 สาเหตุหลักที่ทำให้ผู้ชายผมบาง

  • กรรมพันธุ์
    ถ้าหากครอบครัวของคุณมีเคยมีประวัติผมบาง หัวล้าน หัวเถิก แน่นอนเลยว่าคุณก็อาจมีแนวโน้มที่จะมีปัญหาเหล่านี้ได้เช่นกันในอนาคต
  • อายุ
    เมื่อคุณเริ่มมีอายุมากขึ้น บวกกับการใช้ชีวิตมาอย่างโชกโชนในวัยรุ่นด้วยแล้ว มีส่วนทำให้เซลล์ร่างกายเสื่อมสภาพอ่อนแอลงมากขึ้น จนทำให้เกิดอาการผมร่วง ผมบาง
  • โรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ 
    โรคบางโรคส่งผลกระทบต่อผมและหนังศีรษะ โดยมีทางตรงหรือทางอ้อม โรคที่เกิดกับสุขภาพเส้นผมและหนังศีรษะโดยตรง เช่น โรคผมร่วงผมบางจากเชื้อรา โรคฝีหนองบนหนังศีรษะ โรคภูมิแพ้รากผม เป็นต้น และโรคที่ส่งผลกับสุขภาพผมทางอ้อม โดยส่งผลเสียต่อการเจริญเติบโตของเส้นผมจนทำให้ผมบาง เช่น โรคภูมิแพ้ตัวเอง โรคซิฟิลิส และโรคโลหิตจาง เป็นต้น
  • พฤติกรรมการใช้ชีวิต
    พฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เราใช้อยู่ทุกวัน อาจส่งผลต่อเส้นผมโดยไม่รู้ตัวและสะสมมาเรื่อย ๆ จนเกิดภาวะผมร่วง ผมบางในที่สุด เช่น พักผ่อนไม่เพียงพอ ความเครียด การใช้สารเคมีกับเส้นผม หวีผมผิดวิธี รับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ ดื่มแอลกอฮอล์ และสูบบุหรี่ เป็นต้น
  • ผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิด
    การใช้ยาในบางชนิด อาจส่งผลเสียหรือได้รับผลข้างเคียงทำให้เกิดปัญหาผมร่วง ผมบางได้ เช่น กลุ่มยารักษาสิว ยาฆ่าเชื้อ ยาต้านแข็งตัวของเลือด กลุ่มยาจำพวกนี้อาจรบกวนการทำงานของต่อมไขมันหรือระบบไหลเวียนเลือด ทำให้เส้นผมอ่อนแอ จนเกิดปัญหาผมบางได้ในที่สุด
  • ฮอร์โมน
    ปัญหาผมบางในเพศชายนั้นมักมีสาเหตุมาจาการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน จากฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน ไปเป็น ฮอร์โมนไดไฮไรเทสโทสเตอโรน (DHT) ซึ่งจะส่งผลให้เส้นผมอ่อนแอ หลุดร่วงง่าย การเกิดใหม่ของเส้นผมก็จะช้าลง หรือเส้นผมที่เกิดมาใหม่ก็จะเติบโตไม่เต็มที่ ส่งผลให้จำนวนเส้นผมลดน้อยลง หรืออาจรุนแรงมากขึ้นจนกระทั่งไม่มีเส้นผมเกิดใหม่ หรือเรียกว่าอาการศีรษะล้านนั่นเอง
  • ไทรอยด์ฮอร์โมน 
    การทำงานของไทรอยด์ฮอร์โมนที่ผิดปกติ ส่งผลทำให้เส้นผมร่วงมากกว่าปกติ ส่งผลให้เกิดภาวะผมบางตามมา
  • ความเครียด
    ความเครียดทำให้เกิดผมร่วงได้ 2 ประเภท
    1. Telogen Effluvium เป็นความเครียดชนิดรุนแรง ทำให้รากผมที่กำลังเติบโตเกิดภาวะพักการทำงานกะทันหัน ส่งผลให้มีอาการผมร่วง 2-3 เดือนแรก และหลังจาก 6-9 เดือนเส้นผมจะเริ่มขึ้นตามปกติ

    2. Alopecia Areata เป็นอาการผมร่วงที่รุนแรงกว่าชนิดแรก เม็ดเลือดขาวจะเข้าไปทำลายรูขุมขนบริเวณหนังศีรษะ ทำให้เกิดอาการผมร่วง เพียงไม่กี่สัปดาห์จะเริ่มมีลักษณะเป็นวงกลมเล็ก ๆ และขยายใหญ่เรื่อย ๆ บางคนอาจมีเส้นผมขึ้นมาเหมือนเดิมได้ แต่ในบางคนหากอาการไม่ดีขึ้นเลย จำเป็นต้องปรึกษาแพทย์เพื่อหาหนทางในการรักษาต่อไป


หากคุณผู้ชายเริ่มมีอาการผมบาง หลาย ๆ ท่านอาจจะอยากทราบว่าที่เป็นอยู่นั้น คือมากหรือน้อย อยู่ในระดับไหน ?

ในปัจจุบันมีการแบ่งระดับอาการผมบางในผู้ชายโดย The Norwood-Hamilton Scale โดยมีการแบ่งความรุนแรงออกเป็น 7 ระดับ

  • Norwood Scale ระดับ 1 ในระดับแรก จะสังเกตได้ว่าอาจมีอาการหัวเถิกตรงมุมของแนวไรผมด้านหน้าเป็นรูปทรงตัว M ระดับนี้อาการยังไม่รุนแรงมาก
  • Norwood Scale ระดับ 2 เป็นระดับที่เริ่มสังเกตได้ง่ายขึ้น เนื่องจากมีการร่นของแนวไรผมรูปตัว M มากขึ้น ผมบริเวณด้านหน้าบางลง
  • Norwood Scale ระดับ 3 สำหรับระดับนี้ การร่นของแนวไรผมรูปตัว M นั้นจะเริ่มเห็นชัดยิ่งขึ้น ผมด้านหน้าก็จะเริ่มบางลง และมีแนวการสังเกตเพิ่มเติมจากระดับก่อนหน้าตรงที่จะเริ่มเห็นการหลุดร่วงของเส้นผมแถวขวัญผมมากขึ้น ถือเป็นระดับสูงสุดของระดับ 3 (ระดับ 3a)
  • Norwood Scale ระดับ 4 เป็นระดับที่เริ่มสร้างความกังวลใจให้กับผู้ที่มีอาการผมบาง เนื่องจากสามารถสังเกตได้อย่างชัดเจน การร่นของแนวไรผมรูปตัว M อย่างชัดเจน ผมด้านหน้าก็จะเริ่มบางลงเรื่อย ๆ การหลุดร่วงของเส้นผมแนวขวัญผมเริ่มกว้างขึ้นเป็นตัว O
  • Norwood Scale ระดับ 5 เป็นระดับที่เส้นผมเริ่มเหลือไม่มากแล้ว ผมด้านหน้าก็จะเริ่มบางลงเรื่อย ๆ จนไปรวมกับมุมของไรผมที่ร่วงบางเป็นตัว M จนกระทั้งเกือบ จะรวมไปกับขวัญผมรูปตัว O กลางศีรษะ
  • Norwood Scale ระดับ 6 และระดับที่ 7 ในสองระดับนี้ ถือว่าเป็นระดับที่ลุกลามถึงขั้นไม่เหลือไรผมด้านหน้ารวมไปถึงตรงขมับแล้ว และเริ่มลุกลามไปถึงผมกลางศีรษะเรื่อย ๆ จนไม่เหลือผมตรงกลาง

ผมบางในผู้ชายนั้นเป็นปัญหาที่ทำให้หนุ่ม ๆ หลายคนขาดความมั่นใจ และเป็นปัญหาที่สามารถเกิดขึ้นได้ในหลายปัจจัยอย่างที่ได้กล่าวมาข้างต้น ซึ่งจะส่งผลทำให้รากผมของเรานั้นอ่อนแอ ขาด หลุดร่วง และทำให้เกิดผมบางหรือศีรษะล้านในที่สุด โดยภาวะผมบาง ศีรษะล้าน แบ่งตาม The Norwood-Hamilton Scale ได้ทั้งหมด 7 ระดับ หากเริ่มมีความรุนแรงตั้งแต่ระดับ 3 ขึ้นไปแล้ว ควรรีบแก้ปัญหาก่อนที่ภาวะผมบางจะมีระดับความรุนแรงเพิ่มขึ้น สำหรับการแก้ปัญหาผมร่วง ผมบาง ศีรษะล้านในผู้ชายนั้นสามารถรักษาได้หลายวิธี เริ่มตั้งแต่การไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยโรคว่าเกิดจากสาเหตุใด วิธีการรักษาก็มีตั้งแต่การใช้ยารับประทาน การทายา การปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน หรือเป็นการผ่าตัดปลูกผม โดยแพทย์จะเป็นผู้ประเมินตามความรุนแรงและความต้องการของคนไข้เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจที่สุดค่ะ

ปรึกษาปัญหาผมร่วง ผมบาง ศีรษะล้านกับทีมแพทย์ผู้มีประสบการณ์ที่ศูนย์การแพทย์ธนบุรีได้ ฟรี!

  LINE: @tmc.center    
  Tel: 02-466-9955 | 02-465-9822
  Facebook: ศูนย์การแพทย์ธนบุรี Thonburi Medical Center

  Instagram: Thonburi Medical Center

Category: article
Tags: ศีรษะล้าน ปลูกผม หัวล้าน ผมร่วง ผมบาง คลินิกปลูกผม

TMC LINE
TMC FACEBOOK